จากใจกู้ชีพ

“รถพี่.. ใช่คันที่ติดสติ๊กเกอร์อาสาด้านหลังหรือเปล่าครับ ?”
เป็นคำถามถึงสติ๊กเกอร์ “สตาร์ ออฟ ไลฟ์” 6 แฉกสีน้ำเงิน ตรงกลางมีรูปงูพันคบเพลิง ที่ถามจากหัวหน้าศูนย์บริการบำรุงรักษารถยนต์แห่งหนึ่งหลังจากที่ผมมาแจ้งความประสงค์มารับรถยนต์ของตัวเองกลับคืน การใช้บริการศูนย์บริการในวันนั้น มีเพียงรายการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเพียงรายการเดียว แต่คำถามนั้น มันได้ทำให้ผมรู้สึกภูมิใจอยู่ลึกๆคนเดียว ว่าการเจริญเติบโตของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) และองค์ความรู้ของระบบ ที่พวกเราช่วยกันสร้างมามากกว่า 18 ปี ได้เข้าถึงการรับรู้ของกระแสหลักในสังคมบ้างแล้ว แม้การรับรู้นั้นส่วนใหญ่มันจะยังไม่ถูกต้องนักก็เถอะ
ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาประมาณ 16.00น. เดือน กันยายน ปี 2553 ผมเดินไปลูบคลำสติ๊กเกอร์ระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้ายรถ ที่หัวหน้าช่างคนนั้นบอกว่ามันคือสติ๊กเกอร์ “อาสา” ก่อนที่จะขึ้นนั่งประจำที่และขับรถออกไปจากศูนย์บริการด้วยความหวาดหวั่น ระคนสะพรึงกลัวลึกๆว่า “พวกเรา.. เดินมาถูกทางแล้วจริงๆน่ะเหรอ?”

ย้อนหลังไป ในปี พ.ศ. 2539.... ท่ามกลางผู้คนต่างเดินไปมาเพื่อทำกิจธุระของตนเองหน้าทางเข้าโรงพยาบาลราชวิถี เมื่อผู้ป่วยและญาติกลุ่มหนึ่งเดินผ่านหน้าผมไป พลันภาพที่อยู่ตรงหน้าของผม ปรากฎ ภาพที่เปล่งประกายของรถตู้สีขาว กลางเก่ากลางใหม่ มันคือ “รถกู้ชีพคันที่ 2” มันถูกติดสัญญาณไฟฉุกเฉินธรรมดาๆ ละม้ายคล้ายตู้เลี้ยงปลาทำจากพลาสติกใสสีน้ำเงิน มันทำให้รู้ว่ายานพาหนะนี้คือรถฉุกเฉิน มันถูกจอดหันหัวออกหน้าโรงพยาบาลเสมือนหนึ่งเตรียมพร้อมที่จะพุ่งออกไปเต็มกำลังเพื่อไปช่วยชีวิตใครคนหนึ่ง ณ ที่ใดที่หนึ่งในกรุงเทพมหานครอยู่ทุกขณะจิต ด้านข้างตัวถังของมัน มีตัวหนังสือที่เริ่มซีดจาง แต่ยังอ่านได้ชัดว่า “หน่วยกู้ชีพนเรนทร” รายรอบรถกู้ชีพคันที่ 2 คันนั้น มีรถลักษณะเดียวกันจอดเรียงรายอยู่ ณ ที่แห่งนี้ คือที่ที่ผมได้รู้จักต้นแบบของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย ต้นแบบที่เกิดขึ้นจากการออกแบบและวางแผนอย่างตั้งใจ ด้วยมันสมองและอุตสาหะของแพทย์และพยาบาลกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะนายแพทย์สมชาย กาญจนสุต ผู้ที่มีบุญคุณต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยอันใหญ่หลวงผู้หนึ่ง ที่นี่.. คือต้นแบบของระบบ EMS ที่เป็นที่ยอมรับจากผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉินที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เดิมมากที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ต้นแบบที่หลายหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศมาศึกษาดูงานเพื่อยึดเป็นแนวทางในการเริ่มจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นของตนเอง ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นด้วยคนที่ทำงานประจำเพียงไม่ถึง 10 คน ณ สถานที่นี้.... คือที่ที่เรียกว่า..... “ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี”

ใครจะทราบว่าเพียงอีเมล์ขอคำปรึกษาฉบับเดียวจากผมถึง นายแพทย์สมชาย กาญจนสุต หัวหน้างานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน และหัวหน้าผู้บุกเบิกศูนย์ฯ ในก่อนหน้าวันนั้นไม่กี่วัน อันเนื่องมาจากการอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ซื้อมาจากเอเชียบุ๊ก สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวจบ (หนังสือเล่มนั้นคือ EMT: Rescue ! เขียนโดย Pat Ivey) จะเป็นการเปิดประตูรับให้ผมได้มาพบและผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ ในวันแรกนั้นผมได้พบกับ คุณอุบล ยี่เฮ็ง หัวหน้าพยาบาลกู้ชีพ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญ และมีบุญคุณต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยอีกคนหนึ่ง พร้อมเจ้าหน้าที่กู้ชีพจำนวนมาก ที่มีทั้งเป็นอาสาสมัคร เป็นเจ้าหน้าที่ประจำของโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิร่วมกตัญญู และป่อเต็กตึ๊ง ให้มาสนับสนุนงานของศูนย์ฯ ในระยะแรก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กู้ชีพหลายๆคน เช่น “บอย” (บันลือศักด์ เหล่าจำรูญ) บุคคลที่ครองตำแหน่งมือ 1 ในสุดยอดทักษะการขับรถกู้ชีพที่เก่งกาจที่สุด “รัช” (รัช สุคนธรัชน์) ที่คล่องแคล่วด้านการประสานงาน ติดต่อ บริหารจัดการทุกๆเรื่อง “พี่ปุ๊ก” (ดิเรก บุญเส็ง) ที่ผูกพันกับสถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่ง และให้ความเป็นกันเองกับน้องๆเสมอ รวมทั้งคนอื่นๆ ทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญในการพัฒนางานนี้ตั้งแต่ในยุคแรกๆเช่นกัน รวมไปถึงผองเหล่าบรรดาพยาบาลกู้ชีพและแพทย์ ซึ่งในยุคแรกมีแพทย์ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าทีมกู้ชีพ มาขึ้นเวรเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ และเป็นเพียงบางเวลาเท่านั้น แต่ก็มีแพทย์หลายท่านที่เสียสละ เช่น อาจารย์วิมล (แพทย์หญิงวิมล สิริวาสิน) ผู้ซึ่งเสียสละเวลามาทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างมากให้กับศูนย์ฯ โดยการมาขึ้นเวรอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งไม่มีใคร อาจารย์สมชายก็อาสาขึ้นเวรเองก็เป็นเรื่องที่เราเห็นกันเป็นปกติ... พวกเขาผู้กล้าเหล่านี้ที่ผมได้พบตั้งแต่วันแรกๆ ได้ให้คำแนะนำวิธีการทำงานกับผม พร้อมทั้งแนะนำและสอนการใช้อุปกรณ์การช่วยชีวิตจำนวนมาก ก่อนที่ผมจะได้รับการฝึกหลักสูตรเจ้าหน้าที่กู้ชีพ (Emergency Medical Technician – Basic) ซึ่งปัจจุบันมันถูกเรียกว่า “เวชกรฉุกเฉินระดับต้น” รุ่นที่ 2 ของศูนย์ฯ และอาจเป็นรุ่นที่ 2 ของประเทศไทยก็เป็นได้

สำหรับในยุคนั้น จะมีก็เพียงหน่วยงานไม่กี่หน่วย เช่น ศูนย์ส่งกลับ รพ.ตำรวจ ศูนย์รถพยาบาลประจำ Trauma Center โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และหน่วยแพทย์กู้ชีวิต รพ.วชิรพยาบาล เพียงเท่านั้นที่มีบุคลากรที่จัดไว้โดยเฉพาะสำหรับการออกไปช่วยชีวิต ณ จุดเกิดเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ไม่นับหน่วยกู้ภัยมูลนิธิต่างๆ ที่ปฏิบัติงานอยู่แล้วมาหลายสิบปี ทำให้การออกทำงานแต่ละครั้ง เป็นสิ่งที่คาดคิดไม่ถึงสำหรับคนที่รอคอยความช่วยเหลือและญาติพี่น้องของเขา หลายคนเขียนจดหมายมาขอบคุณภายหลัง หรือมอบของที่ระลึกให้แก่เจ้าหน้าที่ในโอกาสที่เขาได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลจนหายเป็นปกติ บางคนถึงกับคิดว่าต้องเสียเงินจำนวนมากเมื่อเรากำลังจะเริ่มให้บริการ ณ จุดเกิดเหตุ ทำให้พยายามปฏิเสธการช่วยเหลือเพราะไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายก็มี พวกเราต้องพยายามอธิบายว่าการบริการช่วยชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ และการเคลื่อนย้ายนำส่งของเรา เป็นบริการฟรีของรัฐ ไม่มีค่าใช้จ่ายเรียกเก็บจากตัวผู้ป่วยหรือญาติแต่อย่างใด...
เมื่อพูดถึงสถานที่ของศูนย์ฯ ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดสำหรับผมได้แก่ ห้องศูนย์วิทยุสี่เหลี่ยมเล็กๆ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าห้องเล็กๆ แคบๆแบบนี้ ที่มีเจ้าหน้าที่เพียง 2 คนประจำการในแต่ละเวร จะเป็นห้องสำหรับรับแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินทางหมายเลข 1669 และประสานงานการช่วยชีวิต และการให้คำแนะนำฉุกเฉินทางโทรศัพท์ก่อนที่รถกู้ชีพจะเดินทางไปถึง มานานตั้งแต่ปี 2538 มันคือภารกิจการช่วยชีวิต ภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งอื่นใดทั้งมวล.... อีกสถานที่หนึ่งคือห้องสมุดชั้น 2 เป็นสถานที่ที่อาจารย์สมชาย เก็บรักษาองค์ความรู้ต่างๆไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับวงการกู้ชีพทุกประเภท วารสารต่างประเทศ และคอมพิวเตอร์สำหรับค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต 2 เครื่อง ซึ่งห้องนี้เป็นห้องที่ผมได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าข้อมูลบ่อยๆ โดยบางครั้งก็ได้คุยเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินกับบุคคลต่างๆที่แวะเวียนเข้ามานั่งในห้องนี้ โดยเฉพาะอาจารย์สมชาย ซึ่งในแต่ละครั้งถ้าไม่มีธุระด่วนที่ไหน เราจะนั่งคุยกันเป็นชั่วโมงๆ

“ออด... ออด.... ออด... ศูนย์กู้ชีพนเรนทรแจ้งกู้ชีพทุกนาย ว.0 นเรนทร 02 จัดรถกู้ชีพ ว.4 รับผู้บาดเจ็บเหตุ 200 หน้าเซเว่น อีเลฟเว่น หมอชิต 2 ฝั่งจุดจอดรถผู้โดยสารขาเข้า” เสียงอะเลิท โทน (Alert Tone) ดังขึ้นทางวิทยุสื่อสารประจำกายของเจ้าหน้าที่กู้ชีพทุกนาย พร้อมข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับแจ้งเหตุ นี่คือการออกทำงานของพวกเรา หรือที่เราเรียกว่า “ออกเคส” พวกเราแต่ละคนต่างละทิ้งงานที่อยู่ตรงหน้า รีบกระโจนขึ้นรถกู้ชีพสีขาวคันนั้น เป้าหมายคือให้รถออกจากประตูรั้วโรงพยาบาลได้ภายใน 1 นาทีหลังเสียงอะเลิทโทนดังขึ้น ... รถพุ่งฝ่าการจราจรออกไปอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ หรือผู้ที่ป่วยกะทันหัน หากการจราจรติดขัด เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิทยุของเราจะ ว. ติดต่อไปที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.02) ขอให้ตำรวจเปิดไฟเขียวเป็นทอดๆจนกระทั่งเราสามารถถึงที่เกิดเหตุได้เร็วอย่างที่ไม่คาดคิดแม้ในชั่วโมงเร่งด่วน

อาจารย์สมชายและทีมงานนั้น ได้ใช้หลักการที่ถูกต้องในการกำหนดกรอบของการเริ่มพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะการพัฒนางานอะไรที่ดี เช่น ระบบ EMS นั้น ต้องเริ่มจากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เมื่อทีมงานที่คิดจะทำระบบ EMS ได้ศึกษาระบบ EMS จนคิดว่าเข้าใจชัดแจ้งแล้ว ก็ควรจะวางแผนโครงสร้างการทำงานที่เหมาะกับพื้นที่ตนเอง เมื่อได้โครงสร้างแล้วจึงสรรหาหรือบรมบุคลากรที่เหมาะสมเพื่อมาทำงาน เมื่อได้บุคลากรที่เหมาะแล้วจึงค่อยจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ที่เดิมอาจไม่สมบูรณ์ ให้มีมาเพิ่ม และสร้างความรู้ความเข้าใจของบุคคลในพื้นที่ไปพร้อมกัน อาทิเช่น ตำรวจ อาสาสมัคร ผู้นำชุมชนต่างๆ ให้ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง หากเกินกำลังความสามารถ คนในพื้นที่เหล่านี้ก็ควรจะรู้ว่าต้องติดต่อที่ใด เมื่อใด และอย่างไร เพื่อขอความช่วยเหลือในระดับที่สูงกว่า.... ผมนึกเสียใจและผิดหวังทุกครั้งที่มักจะมีคนทำสวนทาง คือ จัดหารถกู้ชีพ ซื้อเครื่องมือก่อนสิ่งอื่น โดยที่ตัวผู้นำในระบบ EMS ก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจดีพอ นั่นคือสิ่งที่ทำให้ระบบไม่มั่นคง และน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินภาครัฐก่อนปี 2537 เกิดขึ้นและดับไปอยู่หลายครั้ง ส่วนหนึ่งคงจะเป็นเพราะนโยบายทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง

ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” รพ.ราชวิถี แม้จะมีขอบเขตการให้บริการจำกัดเพียง 10-15 กม.รอบโรงพยาบาล แต่หลังปี 2540 ได้มีการชักชวนกันในส่วนของ รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตน์ราชธานี ให้จัดการบริการการแพทย์ฉุกเฉินขึ้นเพื่อให้บริการในพื้นที่โรงพยาบาลของตน โรงพยาบาลกรมการแพทย์ทั้ง 3 แห่งจึงจับมือกันในการกำหนดโซนการให้บริการ ร่วมกับหน่วย SMART ของ รพ.วชิรพยาบาล จนกระทั่งพื้นที่เกือบทั้งหมดใน กทม. จะสามารถรับบริการกู้ชีพ ณ จุดเกิดเหตุได้ภายใน 15 นาทีหลังการโทรแจ้งเหตุที่ 1669 เว้นเพียงเฉพาะบางกรณีที่การจราจรติดขัดจริงๆ เราอาจไปถึงที่เกิดเหตุโดยใช้เวลา 20 -25 นาทีบ้าง แต่ก็มีอยู่น้อยครั้ง

ทุกอย่างถูกออกแบบอย่างรอบคอบและด้วยความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ ที่นี่จะไม่มีการอ้างถึงอุปสรรคต่างๆที่ทำให้ต้องหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น ไม่มีการนั่งประชุมเป็นเดือนๆ ตั้งกรรมการขึ้นมามากมาย หรือเน้นหนักไปในด้านวิชาการมากเกินไปจนงานไม่ถูกนำมาปฏิบัติ อย่างที่เกิดขึ้นในหน่วยงานราชการทั่วๆไป แม้กระนั้นทุกอย่างก็ถูกตีกรอบเอาไว้อย่างแยบยลเพื่อไม่ให้ทิศทางการทำงานต่อไปมีความความผิดพลาด การทำงานของที่นี่จึงดูต่างจากราชการมาก ซึ่งผมเคยคิดเล่นๆว่า ถ้าเราใช้วิธีคิดแบบราชการมาใช้ตั้งแต่แรกเริ่ม เราจะจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ออกระเบียบเพื่อรองรับผู้ปฏิบัติงานนอกโรงพยาบาลเสียก่อน ถ้าเป็นเช่นนั้นคงไม่มีทางที่หน่วยกู้ชีพ “นเรนทร” และหน่วยกู้ชีพอื่นๆ จะถือเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งที่เราผลักดันคือใช้การปฏิบัติเป็นตัวนำ ให้เกิดการทำเป็นตัวอย่างให้ดูว่าในเมืองไทยก็สามารถทำระบบเช่นนี้ได้เหมือนกับที่ประเทศที่เจริญแล้วเขามี เมื่อมีการปฏิบัติไปสักระยะหนึ่ง กฎหมายและอะไรต่างๆนั้น ควรจะต้องมี ตามมาทีหลัง แม้แต่แบบฟอร์มรายงานผู้ป่วย ก็ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดีให้ข้อมูลที่จำเป็นทุกอย่างอยู่ในหน้าเดียวทั้งหมด และเป็นแบบฟอร์มที่มีกระดาษสำเนาในตัว เขียนครั้งเดียวสามารถแยกเก็บกันได้หลายที่ ลดความผิดพลาดและสิ้นเปลืองได้มาก มันถูกใช้โดยหน่วยกู้ชีพทั่วประเทศมาตลอด แม้ปัจจุบันหลังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รับภารกิจบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินมาแล้ว 2 ปีเศษ แบบฟอร์มดังกล่าวก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หรือแทบจะไม่ได้ถูกเปลี่ยนเลย นับว่าผู้ออกแบบฟอร์มดังกล่าวได้ทำไว้มีความสมบูรณ์ในตัวมันเองสูงมาก

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายให้ระบบ EMS เป็นหนึ่งในนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น ในปี 2547 สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรรวงสาธารณสุขจึงได้ถือกำเนิดขึ้น ในช่วงนั้นอาจารย์สมชายรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานฯ เป็นคนแรก ได้พยายามผลักดันให้เกิดการอบรมบุคลากรระดับต่างๆ และชักชวนให้ผู้บริหารโรงพยาบาล หรือแพทย์ผู้รับผิดชอบทั่วประเทศเห็นความสำคัญของระบบ EMS แม้จะมีงบประมาณเพียงน้อยนิด โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในระบบ EMS แทบจะไม่มีงบประมาณใดๆลงมาสนับสนุนเลย จวบจนกระทั่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้ามารับภารกิจ โดยงบประมาณก้อนแรกได้ถูกแบ่งมาจากเงินรายหัวประชากรในอัตราประมาณ 10 บาทต่อคน และมีงบประมาณสนับสนุนการออกปฏิบัติการ 1,000 บาทต่อการ “ออกเคส” 1 ครั้งสำหรับหน่วยปฏิบัติการระดับสูง และ 500 บาทต่อการ “ออกเคส” 1 ครั้ง สำหรับหน่วยปฏิบัติการระดับพื้นฐาน การบริการจึงได้ขยายขอบเขตมากขึ้น

สำหรับการรายงานการปฏิบัติการเพื่อจ่ายค่าสนับสนุนการทำงานนั้น การรายงานเป็นเอกสารและส่ง Fax หรือไปรษณีย์จากจังหวัดต่างๆกลับมาที่ส่วนกลางได้เป็นอุปสรรคการทำงาน เกิดความล่าช้าและผิดพลาดมาก จึงจำเป็นต้องมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกการปฏิบัติงาน แต่เนื่องจากขาดงบประมาณ อาจารย์สมชายจึงได้ลงทุนลงแรงเขียนโปรแกรมขึ้นมาใช้เองอย่างง่ายๆ แต่ใช้การได้จริง ซึ่งมีความสามารถรายงานข้อมูลได้ในแบบ real-time ทำให้การตรวจสอบการทำงานแต่ละจังหวัดสามารถทำได้ง่ายขึ้น แต่เมื่ออาจารย์ประสบมรสุมทางการเมือง และจำเป็นต้องเปิดทางให้ผู้อื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแทน ได้ทำให้โปรแกรมดังกล่าวหยุดการพัฒนาไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้ระบบฐานข้อมูลที่ออกแบบมาเพื่อรองรับงานเพียงแค่ใน 1-2 ปีแรกนั้น เกิดความลำบากมากขึ้นจากจำนวนฐานข้อมูลที่ใหญ่โตขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีโปรแกรมที่เรียกว่า ITEMS ที่ถูกพัฒนามาอย่างยาวนาน ใช้งบประมาณสูงลิบลิ่วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโปรแกรมใหม่นี้มีความสามารถสูงขึ้น มีความละเอียด และรายงานข้อมูลได้หลากหลาย แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ปฏิบัติการมากเท่าโปรแกรมที่อาจารย์สมชายพัฒนาโดยใช้เงินเพียง 0 บาทเดิมเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามนโยบายของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คงจะต้องพัฒนาและใช้งานโปรแกรม ITEMS ให้ดีขึ้นต่อไป ผู้เขียนขอภาวนาว่า เราจะสามารถพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือในศูนย์รับแจ้งเหตุ ให้เทียบเท่าระบบในต่างประเทศที่เจริญแล้วในอนาคตอันใกล้ให้ได้ (แต่ไม่ควรใช้เวลาหรือเงินมากเกินไปนัก)

กลิ่นแอมโมเนีย กลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ กลิ่นคาวเลือด .... ยังคงติดอยู่ในความทรงจำของผม เสมือนหนึ่งติดอยู่ปลายจมูก ความดิบ ความสับสนวุ่นวายในที่เกิดเหตุ แต่พวกเรากลับหอบหิ้วอุปกรณ์ช่วยชีวิตพะรุงพะรังเดินสวนไทยมุงเข้าไปช่วยเหลืออย่างสงบ มีสมาธิ ไม่สติแตกไปกับไทยมุงรอบข้าง ... เราให้การช่วยเหลือตามแนวปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ... ไม่ว่าจะเป็นเหตุ Cardiac Arrest (หัวใจหยุดเต้น) บนตึกใบหยก 2 ชั้นบนสุด ... เหตุผู้บาดเจ็บการจราจรที่เลือดไหลนองไปมาตามจังหวะเบรก และเร่งเครื่องจนท่วมทั่วพื้นรถกู้ชีพ.. จนกระทั่งถึงเคสผู้ป่วยโรคเบาหวานหมดสติ ลึกลงไป ณ สถานีรถไฟใต้ดิน ... เราจะยังคงปฏิบัติงานต่อไปไม่มีวันหยุด พร้อมที่จะมีความสุขกับคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก เมื่อเขาคนนั้นหัวใจหยุดเต้น กลับมามีชีพจรอีกครั้งหนึ่งหลังการช่วยเหลือขั้นสูง (Advanced Life Support) บนพื้นห้องรับแขกของเขา

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าต่อไป ณ ที่แห่งนี้ ที่เรียกว่า “ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี”

Navigation