เราควรสนับสนุนการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ AED หรือไม่?

เราควรสนับสนุนการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ AED หรือไม่

AED ประจำสถานีรถไฟในญี่ปุ่น

หลายท่านคงได้เห็นหรือได้ใช้งาน เครื่องกระตุกหัวใจ (Defibbrillator) กันมาแล้ว ถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์คงได้มีโอกาสสัมผัส และใช้งานเครื่องมือชนิดนี้มาแล้วอย่างแน่นอน อุปกรณ์ชิ้นนี้ได้นำมาใช้เป็นขั้นตอนหนึ่งในการกู้ชีพผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นในบางกรณี ในการให้โอกาสที่หัวใจจะกลับมาเต้นเป็นปกติอีกครั้ง เมื่อไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมาได้มีผู้ออกแบบให้สามารถวิเคราะห์คลื่นหัวใจผู้ป่วย และส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ผู้ป่วยโดยกดปุ่มเพียงไม่กี่ปุ่ม ผ่านแผ่นแปะหน้าอก 2 ชิ้น เรียกว่า เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibbrillator) หรือ AED นั่นเอง การทำงานไม่ซับซ้อน ในสังคมประเทศผู้ผลิต (และประเทศมีเงินเหลือใช้อื่นๆ) จึงเปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์สามารถใช้ได้ด้วย ผ่านการสนับสนุนโดยงานวิจัยต่างๆที่มีบทสรุปว่ายิ่งผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นได้รับการช่วยเหลือโดย CPR และใช้เจ้า AED นี้เร็วเท่าใด ผู้ป่วยก็มีโอกาสรอดชีวิตกลับมาเป็นคนปกติได้มากเท่านั้น เท่านั้นแหละ.. ผู้ผลิต AED ต่างผลิต AED ที่ออกแบบมาสำหรับติดตั้งตามสถานที่สาธารณะมากมาย บางชนิดใส่ถ่านไฟฉายใช้งานได้ก็มี

เมื่อเดือนก่อนยังอ่านข่าวอยู่เลยว่า AED 100 เครื่องที่ติดตั้งในงาน 2005 Expo ที่เมือง Aichi ประเทศญี่ปุ่น สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทั้งหมดอย่างน้อย 3 คนให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติ

เมื่องานวิจัยและหลักฐานออกมาแบบนั้น สังคมเหล่านี้ก็เริ่มปรับเปลี่ยน เป็นต้นว่า

มีการติดตั้งเครื่องบนที่สาธารณะ เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ โดยมีลักษณะการติดตั้งโดยใช้แนวคิดเดียวกับเครื่องดับเพลิง
สายการบินหลายแห่งนำไปติดตั้งให้ใช้งานบนเครื่องบินของตนเอง
ศูนย์รับแจ้งเหตุ อย่างน้อยที่อเมริกา ศูนย์ 911 จะมีฐานข้อมูลของเครื่องที่ลงทะเบียนว่าอยู่ที่ใดบ้าง โดยจะแนะนำให้ผู้แจ้งเหตุที่พบเห็นผู้ที่คาดว่าเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้รับ AED ที่ใกล้ที่สุดมาช่วย เรื่องนี้เคยมีเคสเป็นเรื่องใหญ่เลยว่า 911 ได้รับแจ้งเหตุคนหมดสติในที่แห่งหนึ่ง ฐานข้อมูลพบว่าโรงเรียนประถมใกล้ๆกันนั้นมี AED ประจำอยู่ ทาง 911 รีบโทรไปโรงเรียนหวังว่าจะบอกให้มีใครนำเครื่องออกมาช่วย แต่จำไม่ได้ว่าโทรหลายครั้งสายไม่ติด หรือว่าโทรติดแต่ตามคนถือกุญแจตู้ AED ไม่เจอเนี่ยแหละ จนเกิดความล่าช้าในการช่วยเหลือ หลังจากนั้นโรงเรียนก็ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบางอย่างทำให้นำออกมาใช้ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการบำรุงรักษาและดูแลให้ใช้งานได้ตลอดเวลา
ในส่วนการอบรม ประชาชนโดยเฉพาะทีม First Responder ที่ตามกฎหมายต้องต่ออายุการอบรม CPR ทุกปีก็ได้รับการอบรม AED เพิ่มเข้ามาด้วย ผมก็เคยไปอบรมคอร์ส CPR with AED for professional rescuer กับเค้าด้วยเหมือนกัน โดยเครื่องอบรมจะเป็นเครื่องปลอมๆ เวลาถือนี่เบาโหวงเลย แต่การทำงานบนจอ เสียงโต้ตอบ และปุ่มกดเหมือนจริงหมด

AED ประจำสนามบิน Tasmania ออสเตรเลีย มาพร้อมกับโปสเตอร์สอน CPR และวิธีการใช้งาน

ในส่วนประเทศไทย ก็อยากจะถามผู้รู้ว่าขณะนี้ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเปิดโอกาสให้สามารถซื้อหา AED มาใช้ได้ หรือมีสนับสนุน ทั้งในด้านให้เกิดการวิจัยและผลิตขึ้นในประเทศไทย (แต่เนื่องจากมันเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่ซับซ้อนจึงอาจจะทำได้ยาก?) นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการอบรมและให้มีการใช้งานจากกระทรวงสาธารณสุข (หรือจากสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน?) และในด้านการปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กฎหมาย, ประชาชน, และทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ระดับต่างๆ

เท่าที่ทราบ ผมเคยได้รับการติดต่อสอบถามความเหมาะสมในการใช้งานเครื่อง AED จากโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ก็ค่อนข้างแปลกใจมาก ผู้ถามบอกว่าเป็นกฎของทางโรงแรมที่โรงแรม(เป็นโรงแรมชื่อดังจากต่างประเทศ)จะต้องมีเครื่อง AED นี้ประจำอยู่ในทุกสาขา ผู้ถามดูเหมือนมีความรู้เรื่อง AED อยู่บ้างแต่ไม่มั่นใจอย่างมากเรื่องกฎหมาย เพราะกลัวว่าการใช้งานจริงจะผิดกฎหมายเนื่องจากไม่ได้ใช้โดยแพทย์หรือได้รับคำสั่งจากแพทย์ นั่นแสดงให้เห็นกลายๆว่า บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานบางแห่งเริ่มมีการซื้อมาเพื่อนำมาใช้จริงแล้วในประเทศไทย ความเห็นของผมคือ ในช่วงที่กฎหมายเรื่อง AED ยังไม่เกิด ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินควรออก guideline เป็นแนวทางปฏิบัติแก่หน่วยงานเหล่านี้ เพื่อป้องกันปัญหากฎหมายและการฟ้องร้องอื่นๆ เป็นการชั่วคราว จะดีหรือไม่?

ที่นี่มีบทความดีๆเกี่ยวกับ AED ให้อ่านกันด้วยเหมือนกัน ผู้เขียนเป็นเพื่อนผมเอง http://gotoknow.org/blog/phddiary/63344

Tags:

Navigation