ประวัติที่สำคัญ ของระบบ EMS ในประเทศไทย

ประวัติ ความพยายามการก่อตั้ง ระบบ EMS ในประเทศไทย

พ.ศ.2480 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้บริการขนส่งศพไม่มีญาติ และต่อมาให้บริการรับส่งผู้ป่วย-บาดเจ็บฉุกเฉิน

พ.ศ.2513 มูลนิธิร่วมกตัญญูเริ่มให้บริการ โดยใช้หลักวิธีการเดียวกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

พ.ศ.2522 (ประมาณ) ในกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจสร้างเครือข่ายรถพยาบาลฉุกเฉินร่วมกับโรงพยาบาลอื่นๆ และศูนย์ส่งกลับให้บริการ prehospital care แก่ผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจากอุบัติภัยขนาดใหญ่ และภัยพิบัติ

พ.ศ.2525 ฝ่ายทหารได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุ 123 บริการประชาชนร่วมกับตำรวจ ให้บริการด้านป้องกันและระงับเหตุอาชญากรรม และมีรถพยาบาลให้บริการจำนวนหนึ่งด้วย แต่ให้บริการได้ไม่นานก็ยกเลิก

พ.ศ.2532 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับจัดสรรงประมาณเพื่อสร้างอาคาร EMS ขึ้นที่โรงพยาบาลราชวิถี โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางด้านการฝึกอบรมและการบริหารระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย

พ.ศ.2536 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจัดตั้ง ศูนย์อุบัติเหตุ(Trauma Center) ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โดยความช่วยเหลือทางเทคนิคจากองค์การระหว่างประเทศ JICA จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาให้มีการรักษาพยาบาลก่อนถึงโรงพยาบาลด้วย

พ.ศ.2537 สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เริ่มให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินแก่ชาวกรุงเทพ เป็นไปตามแผนป้องกันอุบัติภัยของกทม. มีฐานปฏิบัติการอยู่รพ.วชิรพยาบาล โดยเรียกหน่วยปฏิบัติการว่า SMART (Surgico-Medical Ambulance and Rescue Team) มีหมายเลขรับแจ้งเหตุตรงที่ 1554 ให้บริการทางบกด้วยรถพยาบาลโดยประสานงานกับอาสาสมัครของตนเองเป็นหลัก และให้บริการทางน้ำด้วยเรือเร็วจากท่าน้ำสถานีดับเพลิงสามเสน ในระยะแรกเน้นไปที่ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ อุบัติภัยเป็นหลัก

พ.ศ.2538 วันที่10 มีนาคม 2538 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดตัวโครงการต้นแบบการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ โดยจัดตั้งศูนย์กู้ชีพขึ้นที่โรงพยาบาลราชวิถี ในนามศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” มีหมายเลขรับแจ้งเหตุตรงที่ 248-2222 เป็นโครงการบริการนำร่องการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุเป็นแห่งแรกที่ใช้หลักการของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวคือ ให้บริการทั้งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุและจากภาวะเจ็บป่วยอื่นๆ ทั้งหมด เพื่อเป็นต้นแบบของการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุของประเทศไทย

พ.ศ.2539

รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร เริ่มให้บริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล โดยเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเดียวกับรพ.วชิรพยาบาล
รพ.นพรัตน์ราชธานี และรพ.เลิดสิน เริ่มให้บริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล โดยเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับศูนย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถี
พยาบาลกู้ชีพโรงพยาบาลราชวิถีจำนวนหนึ่ง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ไปศึกษาดูงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน SAMU ประเทศฝรั่งเศส
เริ่มการอบรมพยาบาลกู้ชีพ (Paramedic Nurse) โดยโครงการร่วมมือระหว่าง New South Wales Ambulance ประเทศออสเตรเลีย และโรงพยาบาลราชวิถี ทำให้พยาบาลที่ปฏิบัติงานบนรถกู้ชีพทั่วประเทศ มีความสามารถปฏิบติงานรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

พ.ศ.2540 ความร่วมมือระหว่าง New South Wales Ambulance และกรมการแพทย์ ได้ส่งพยาบาลไปศึกษาดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย

พ.ศ.2541

(ประมาณ) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และโรงพยาบาลหัวเฉียว เปิดตัวศูนย์หัวเฉียวพิทักษ์ชีพ ช่วยเหลือประชาชน โดยทำงานร่วมกับอาสาสมัครของตนเองเป็นหลัก
พ.ศ.2541 เริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ และโรงพยาบาลราชวิถี จัดอบรมตำรวจจราจรในโครงการฯ ให้มีความสามารถปฐมพยาบาล และช่วยเหลือคนใกล้คลอดได้ก่อนที่รถพยาบาลจะเดินทางไปถึง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนที่การจราจรติดขัด และช่วยอำนวยความสะดวกนำทางพารถพยาบาลให้เดินทางไปจุดเกิดเหตุ และนำส่งโรงพยาบาลได้รวดเร็วขึ้น

พ.ศ.2541-42 เริ่มมีข้อตกลงร่วมกันในการแบ่งพื้นที่ให้บริการระหว่างหน่วยบริการของสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยบริการของเอกชน เพื่อลดปัญหาความสับสน และสิ้นเปลืองในการให้บริการ โดยหน่วยบริการสามารถวิ่งข้ามโซนได้ในกรณีอุบัติภัยกลุ่มชน (mass casualty) หรือได้รับการร้องขอเนื่องจากหน่วยบริการในพื้นที่ติดภารกิจ หมายเลขรับแจ้งเหตุมี 2 หมายเลขคือ 1554 และ 1669 ซึ่งถ้ามีการแจ้งเหตุนอกโซน ผู้รับแจ้งจะส่งต่อข้อมูลให้หน่วยบริการที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ

พ.ศ.2544 เมื่อวันที่ 2 เมษายน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข) ซึ่งมีหน้าที่จัดระบบ และผลักดันระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย

พ.ศ.2545 กระทรวงสาธารณสุขตั้งนโยบายระบบ EMS เป็น 1 ใน 4 นโยบายที่มุ่งพัฒนาให้เกิดขึ้น

พ.ศ.2546

วันที่ 11กรกฎาคม 2546 กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดโครงการต้นแบบระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ใน 7 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ขอนแก่น, นครราชสีมา,นครสวรรค์, ลำปาง, สงขลา, เพชรบุรี
เป็นครั้งแรกที่ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณเฉพาะจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจำนวน 10 บาทต่อ 1 หัวประชากรที่ลงทะเบียนในจังหวัดนั้นๆ

พ.ศ. 2547 กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายผล เปิดโครงการตันแบบระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ใน 15 จังหวัดของประเทศไทย

พ.ศ.2550

รัฐบาลมีนโยบายให้มีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย
สิงหาคม 2550 กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ ได้รับมอบภารกิจจากสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข (ศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารสุข) ในการดำเนินการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร
วันที่ 21 ธันวาคม 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เห็นชอบผ่านพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน

พ.ศ.2551 ................

ปล. ท่านผู้รู้อื่นๆ ช่วยเพิ่มเติม และ/หรือ แก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ เน้น fact ครับ

Navigation