เตรียมตีเส้นจราจร "ช่องทางรถฉุกเฉิน" นำร่อง ถนนดินแดง-ราชวิถี

หลังจาก"คณะกรรมการบูรณาการ ประสานงาน กรณีกู้ชีพฉุกเฉิน" โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการจราจร และการแพทย์ รวมถึง จส.100 ประชุมหารือแนวทางการพัฒนาด้านการกู้ชีพฉุกเฉินมานานกว่า 3 เดือน และได้แถลงข่าวการลงนาม MOU แนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตาม 7 แผนงาน เพื่อเริ่มต้น(Kick Off) เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่สำคัญแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน คือ การเตรียมตีเส้นจราจร "ช่องทางรถฉุกเฉิน" หรือ Emergency Lane 

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. ดูแลงานจราจร เปิดเผยว่า Emergency Lane เป็นหนึ่งในมาตรการย่อยในการจัดการจราจรจาก 1 ใน 7 แผนงานบูรณาการ โดย บช.น. สำรวจพบว่า ปัญหาการจราจรติดขัดเป็นปัญหาสำคัญของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เช่น ไม่มีช่องทางให้รถฉุกเฉินวิ่ง บางครั้งรถฉุกเฉินต้องจอดเสียเวลารถติด 10-15 นาที อยู่หน้าทางเข้าโรงพยาบาล และประชาชนไม่ทราบว่าควรจะ"ให้ทาง"ที่ช่องทางใด

บช.น. และ กรุงเทพมหานคร จึงเตรียมทำ Emergency Lane นำร่องในพื้นที่เขต8 เป็นช่องทางสำหรับรถฉุกเฉินที่จะมุ่งหน้าไป รพ.ราชวิถี  เริ่มจากถนนดินแดง บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ใกล้จุดตัดถนนวิภาวดีฯ มุ่งหน้าฝั่งขาเข้า ขึ้นสะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง ลงถนนราชวิถี ต่อเนื่องอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าไปในรพ.ราชวิถี สิ้นสุดที่จุดรับผู้ป่วยฉุกเฉิน(ER)

โดยขยายช่องทางซ้ายสุดที่เป็นช่องทางสำหรับรถเมล์(Bus Lane) จากเดิมกว้าง 2.80 เมตร เป็น 4.50 เมตร และตีเส้นจราจรเพิ่ม เป็นเส้นประสีแดงแนวยาวไปตลอดเส้นทาง อยู่คร่อมระหว่างช่องทางรถเมล์ และช่องทางปกติ มีความกว้าง 2.60 เมตร เลี้ยวไปตามถนน ขึ้น-ลงสะพาน ตรงกลางมีตราสัญลักษณ์กาชาดสีขาวอยู่ในพื้นวงกลมสีแดง และมีป้ายจราจรแจ้งให้ประชาชนทราบ 

ผู้ใช้รถสามารถสัญจรได้ในช่องทางตามปกติ แต่หากระหว่างนั้นมีรถฉุกเฉินขณะปฏิบัติหน้าที่กำลังวิ่งขอทางมาด้านหลัง รถทุกคันจะต้อง"ให้ทาง"ตามกฎหมาย เพียงรถเมล์ขยับชิดซ้ายสุด ส่วนรถยนต์ทั่วไปขยับออกจากช่องทาง Emergency Lane รถฉุกเฉินก็จะสามารถผ่านไปได้โดยไม่ต้องติดขัด และห้ามไม่ให้รถทั่วไปฉวยโอกาสขับตามหลังรถฉุกเฉินตามกฎหมาย ขณะที่บริเวณทางเข้ารพ.ราชวิถี จะมีสัญญาณไฟวับวาบเพื่อแจ้งล่วงหน้าให้ผู้ใช้ทางทราบหากมีรถฉุกเฉินกำลังมุ่งหน้าเข้าโรงพยาบาล เพื่อเว้นช่องว่างตามที่มีการตีเส้นจราจร

 

กรุงเทพมหานคร จะเริ่มตีเส้นได้ในช่วงกลางเดือน ใช้เวลาประมาณ 5 วัน เริ่มใช้จริงได้ทันที เพราะขออนุญาตถูกต้อง ไม่ต้องปรับแก้กฎหมายใดเพิ่ม จากนั้นจะติดตามประเมิณผล 2 สัปดาห์ หากเป็นประโยชน์จะขยายไปในเส้นทางอื่นต่อไป ทั้งนี้ถือเป็นโมเดลแรกในกรุงเทพมหานคร ที่มีการบริหารจัดการภายใต้ข้อจำกัดด้านพื้นที่ ไม่ได้มีการวางแผนตั้งแต่ต้นเหมือนเช่น สิงคโปร์ ที่ออกแบบช่องทางรถเมล์ไว้กว้างถึง 6 เมตรตั้งแต่ก่อสร้างถนน ทำให้รถฉุกเฉินสามารถเข้าไปใช้ด้วยได้

ที่มา: เว็บไซต์ จส.100 2016-09-05

Navigation